Skip links
A STORY FROM US

Blog

เรื่องรักของอังคาร

เคยนึกสงสัยไหมว่าความรักของตัวละครในวรรณกรรมของนักเขียนคนหนึ่งต่างกับชีวิตจริงของเขามากน้อยแค่ไหน เส้นทางชีวิตดำเนินไปด้วยความขมขื่น พิสดาร ความไม่สมหวังที่มีระดับ “เกินพอดี” นักเขียนอาจหาวิธีดึงดูดความสนใจผู้อ่านด้วยการสร้างปมขัดแย้งเล็กน้อยพอให้ชีวิตมีสีสัน จะจบท้ายสุขสันต์หรือเศร้าหม่นก็แล้วแต่เขาหรือเธอจะเสกจินตนาการลงไป จนบางครั้งผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่าเรื่องเหล่านั้นมีส่วนจริงเท็จมากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงอธิบายได้อย่างลึกซึ้ง เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกถึงขนาดนั้น

ในบรรดาเรื่องส่วนตัวของอังคาร ดูเหมือนความรักจะเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ผู้คนให้ความสนใจ อาจเพราะบทกวีอันโด่งดังที่เขาเขียนในวัยหนุ่มอย่าง “เสียเจ้า” หรืออาจเพราะความดุดันและเกรี้ยวกราดจนทำให้ถูกขนานนามว่า ‘แองกรี้ยังแมน’ (Angry Young Man) ทำให้คนสงสัยว่าความรักของเขามีหน้าตาอย่างไร เหตุใดจึงตัดพ้อในชะตาของตน ได้ชวนสะเทือนใจเหลือเกิน

ครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับหญิงผู้เป็นที่มาของบท ‘เสียเจ้า’ ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในวัยร่วงโรยแล้ว เราจึงพูดคุยกันถึงความหลังที่เธอยังจำได้ เห็นทีจะต้องขอเล่าไว้ในบทความนี้ก่อนที่เรื่องราวจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

นานมาแล้วสมัยเรียนศิลปากร อังคารได้บังเอิญพบและรู้จักกับ ขนิษฐา สาวหน้าใสจากคณะโบราณคดีซึ่งเป็นนักศึกษาร่วมชั้นกับนิพนธ์ ขำวิไล เพื่อนรุ่นน้องที่อังคารสนิทด้วย เขานึกชอบหญิงสาวคนนั้นซึ่งเป็นลูกนักเขียนเสียด้วย แต่ก็ดูจะเป็นความหลงใหลแต่เพียงฝ่ายเดียว คุณขนิษฐาเล่าว่าเธอกับคุณอังคารไม่เคยพูดคุยกันเลย เจอกันก็ได้แต่มองหน้า วันหนึ่ง อังคารบุกไปถึงห้องเรียนหญิงสาวระหว่างที่อาจารย์กำลังสอน คล้ายว่าไม่พอใจอะไรก็ไม่อาจทราบได้ เขาชี้ไปที่คุณขนิษฐาแล้วกล่าวอะไรสักอย่างด้วยสีหน้าเคร่งเครียดก่อนจะออกจากห้องไป ทั้งอาจารย์และเพื่อนในห้องเรียนถึงกับตกใจ หรืออีกครั้งหนึ่งเขาแวะไปบ้านของหญิงสาวในตอนเย็น แล้วกึ่งฟ้องกึ่งบอกแม่ของคุณขนิษฐาว่าทำไมจนป่านนี้ลูกสาวยังไม่กลับบ้าน ผู้เป็นแม่ถึงกับงงว่านี่คือใครกัน

นี่หากไม่ได้บังเอิญเจอคุณขนิษฐาและฟังเรื่องเล่าจากคุณนิพนธ์ ขำวิไล หลายคนคงเข้าใจไปว่ามีผู้หญิงสะบั้นรักท่านอังคารจนกลายเป็นบทกวีเคืองแค้นข้ามภพข้ามชาติ ทั้งที่ความจริงแล้วก็เป็นเพียงความช่างจินตนาการของชายหนุ่มผู้นั้นที่ตีอกชกหัวตัวเองว่าได้อกหักเสียแล้ว ว่าสาวเจ้าช่างไม่สนใจ แต่ก็ด้วยอารมณ์อ่อนไหวและพลุ่งพล่านของศิลปินหนุ่มนี่ล่ะที่กลั่นความรู้สึกออกมาเป็นบทกวีอมตะให้หลายคนท่องจำได้

หากไม่มีเธอผู้นี้ ก็คงไม่มี เสียเจ้า

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง   
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า   
ซบหน้าติดดินกินทราย
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก   
ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย   
อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
ถ้าเจ้าจุติบนสวรรค์   
ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้   
ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณ
แม้แต่ธุลีมิอาลัย   
ชื่อเจ้าไซร้ทั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน   
จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตา
ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า   
ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา   
ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอย

นอกจากหญิงผู้เป็นที่มาของ เสียเจ้า นี้แล้ว ยังมีตัวละครลับที่อาจไม่เคยมีใครล่วงรู้ ซึ่งการทำจดหมายเหตุนี่เองที่เป็นเหตุให้ได้เจอจดหมายรักฉบับลับ หญิงปริศนานามว่า น้อย ปรากฏอยู่ในจดหมายหลายฉบับ ทั้งสองเขียนจดหมายตอบกันไปมา ส่วนมากอังคารเขียนถึงเธอผู้นั้น แต่ดูเหมือนมีบางฉบับที่เขาน่าจะตัดสินใจไม่ส่งไป จดหมายที่เขียนด้วยลายมือจึงยังอยู่ (คลิกอ่านบางส่วนได้ในกลุ่มจดหมายเหตุประเภท ‘จดหมาย’)

การติดต่อสื่อสารกันผ่านจดหมายของคนสมัยก่อนนี้มีความน่าสนใจบางอย่าง หนึ่งคือสำนวนภาษาที่ใช้ สองคือความคิดและความรู้สึกที่ต้องมีการเรียบเรียงและกลั่นออกมาอย่างละเอียดลึกซึ้ง การอธิบายมีรายละเอียด แสดงถึงความตั้งใจและชุดความคิดอันเป็นระเบียบ เป็นเหตุเป็นผล แสดงถึงความหนักแน่น หากจะเผยความอ่อนไหวก็เป็นไปอย่างรอบคอบและทบทวน สามคือการนัดหมายอันแสนลำบากยากเย็น นึกอยากโทรหาก็ต้องเขียนจดหมายบอกล่วงหน้าหลายวัน เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ต้องทำตามที่ได้บอกกล่าว ต่างเฝ้ารอกันและกันทั้งผู้โทรและคนคอย หากพลาดคลาดกันก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้คุยกันอีก คงต้องเขียนจดหมายหรือส่งโทรเลขเพื่อนัดหมายกันใหม่ อาจนานนับสัปดาห์หรือรอหลักเดือน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมความสัมพันธ์ของคนในสมัยก่อนถึงละเมียดละไมและมีความอดทนกันมากกว่าคนในสมัยนี้ที่เพียงคลิกก็ได้คุย โทรไวทันใจสั่ง นึกเปลี่ยนใจไม่ส่งก็ Unsend เพียงปลายนิ้ว แอพพลิเคชั่นคุยออนไลน์พร้อมสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึกหลากหลาย เมื่ออะไรก็ง่ายไปหมด ความคิดและความรู้สึกเลยวูบไหวไปตามกระแส ความอดทนและการรอคอยจึงไม่ค่อยจะมี ความลึกซึ้งและมั่นคงทางอารมณ์ถูกแทนที่ด้วยจริตฉาบฉวย อย่างที่คนรุ่นใหญ่มักบอกว่า คนสมัยนี้ไม่ค่อยจะอดทน

เวลาเปลี่ยน ทัศนคติและพฤติกรรมผู้คนในสังคมเปลี่ยนตาม ยากที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะต่อต้านกระแสความเป็นไปของยุคร่วมสมัย ใครหลายคนอาจไม่ทันสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยซ้ำ เพราะมันไหลเวียนผ่านรอบตัวอยู่ทุกวันจนกลายเป็นความคุ้นชิน สร้างพฤติกรรมและชุดความคิดใหม่ให้เราทั้งหลาย 

ความในจดหมายชุดที่ว่านี้จะมีใครรู้เห็นเป็นพยานความรู้สึกก็ยากจะทราบได้ มีบุคคลที่ถูกระบุชื่อ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือจากไปแล้วบ้าง แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าบางทีแล้วอาจไม่มีใครรู้เรื่องนี้นอกจากเขาและเธอเพียงสองคน บ่อยครั้งที่จดหมายเหตุมีเรื่องสนุกให้ชวนติดตามอย่างกับดูซีรีย์หรือละคร ความรักอันเป็นกิจอันลึกลับและซ่อนเร้น และมีเพียงเป็นกาลเวลาที่เป็นทั้งพยานและผู้ดูดกลืนกินความจริงให้ลับหาย

จนกระทั่งในเวลาต่อมา อังคารได้พบรักกับคุณอุ่นเรือน เข้าสู่พิธีของสังคมอย่างการแต่งงานและมีครอบครัว ทัศนคติความรักจึงเปลี่ยนจากความครุ่นใคร่ใหลหลงเป็นอบอุ่นลึกซึ้ง ยิ่งเมื่อมองผ่านสายตาแห่งจิตรกร-กวี แง่งามความรักของเขาจึงละเอียดกว่าคนทั่วไป ดังที่เขาเคยให้สัมภาณ์เมื่อครั้งหนึ่ง

 “ผู้ชายที่ยังโสดอยู่มัน มีเรื่องของราคะจริต คือเป็นเพศสัตว์ตัวผู้ พอมาพบคู่แล้วแต่งงาน ก็กลายเป็นพ่อแม่ ซึ่งในที่นี้ก็เหมือนต้นโพธิ์ที่ให้ร่มเงา ทีนี้ความรักที่เราเคยมีแบบโรแมนติค มันขยายขึ้นคือความเมตตา คือมารักลูก”

อังคารพบอุ่นเรือนที่โรงพิมพ์กรุงสยาม สถานที่พิมพ์นิตยสารลลนา ซึ่งขณะนั้นสุวรรณี สุคนธาเป็นบรรณาธิการบริหาร อุ่นเรือนเพิ่งเรียนจบวิทยาลัยครูเพชรบุรีและมาทำงานตามเพื่อนชักชวน ขณะกำลังตรวจปรู๊ฟหนังสือ ชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในโรงพิมพ์กำลังจะขึ้นไปหาสุวรรณี แต่เมื่อเขาเห็นอุ่นเรือนเก้ๆ กังๆ อยู่เลยเข้ามาช่วยสอนวิธีการตรวจปรู๊ฟ หัวหน้าช่างเรียงของโรงพิมพ์ชื่อพจน์แนะนำให้รู้จักว่านี่คือนักเขียนชื่อคุณอังคาร เมื่อคุยธุระกับสุวรรณีเสร็จ อังคารได้ขอดอกกุหลาบสีแดงที่สุวรรณีกำลังจัดแจกันมายื่นให้อุ่นเรือน ผู้ซึ่งสวมชุดกุหลาบสีชมพู หลังจากขอเบอร์โทรศัพท์สาวเจ้า อังคารก็ติดต่อชวนไปกินข้าวอยู่บ่อยครั้งจนเริ่มสนิทสนมกัน อุ่นเรือนเล่าว่าช่วงแรกไม่ได้คิดอะไรมาก มองคุณอังคารเป็นเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ที่คงจะเอ็นดูเด็ก เพราะทั้งสองห่างกัน 24 ปี หรือสองรอบอายุ (อังคารเกิดปีพ.ศ. 2469 ส่วนอุ่นเรือนเกิดพ.ศ. 2493) จากนั้นความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนก็ค่อยๆ เจริญเติบโตไปตามเส้นทางที่พวกเขาร่วมกันดูแล

⊚  “ดอยผาหมี” มิ่งไม้ สายวสันต์     แพรวพราย
เมฆร่ายมนตร์ฝนฝัน                          หลั่งแล้ว
โค้งรุ้งรุ่งผาสวรรค์ กระท่อม               สุนทรีย์
มี “อุ่นเรือน” เพื่อนแก้ว                     ร่วมกู้วิญญาณ  ฯ

บทกวีชื่อดอยผาหมี อังคารแต่งไว้ให้อุ่นเรือนเมื่อครั้งไปสอนเด็กชาวเขาที่ดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย ครั้งนั้นอังคารได้ฝากฝังเพื่อนที่เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงให้ช่วยจัดการธุระ อังคารเดินขึ้นดอยไปส่งอุ่นเรือน ทั้งสองผ่านทุ่งนาและกระท่อม ระหว่างทางฝนเกิดตกปรอยท่ามกลางแดดโปรย ผีเสื้อบินวนไปมารอบตัวคล้ายนำทางทั้งคู่สู่จุดหมาย อังคารบอกอุ่นเรือนว่าเทวดาโปรยน้ำมนต์ลงมาให้ ดูเหมือนอุ่นเรือนจะฝังใจในฉากโรมานซ์นี้ เธอมักเล่าด้วยรอยยิ้มอยู่เสมอ

 

หลายเหตุการณ์ผ่านไปที่ไร้กล้องบันทึกภาพความทรงจำ คงมีแต่ผลงานวาดเส้นเท่านั้นที่พอจะถ่ายทอดบางเรื่องราวเอาไว้ได้ เมื่อทั้งคู่กลับมาอยู่บ้านเช่าตรอกวัดเพลงที่กรุงเทพด้วยกัน ไม่นานหลังจากนั้นอังคารก็ให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์และพี่สาว (สมจิต ชัยมุสิก) ไปสู่ขออุ่นเรือนที่เมืองโคราชบ้านเกิด ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสามคน นามว่าภูหลวง อ้อมแก้ว และวิศาขา ตามลำดับ (ปัจจุบันลูกชายคนโตเสียชีวิตแล้ว)

นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าจากฉากรักบางตอนของอังคาร รวมถึงความรักลับๆ บางเหตุการณ์ที่ถูกนำมาลำดับความสำคัญให้ฉายชัดขึ้น อารมณ์ของผู้เขียนจดหมายหรือบันทึกเหตุการณ์ในอดีตได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

และคุณกำลังอ่านมัน

This site is registered on wpml.org as a development site.