
ประวัติศิลปิน
อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปีพ.ศ. 2532 ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน เขามีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในด้านผลงานวรรณกรรมและจิตรกรรม
อังคารเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2469 จังหวัดนครศรีธรรมราช แรกเกิดชื่อสมประสงค์ เมื่อวัยเด็กป่วยหนักคล้ายเป็นอัมพาตจนเกือบไม่รอดชีวิต เมื่อรักษาตัวจนหายดีครอบครัวจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า บุญส่ง ส่วนชื่ออังคารนั้น เขาได้ตั้งชื่อให้ตัวเองจากครั้งประสบช่วงชีวิตที่ลำบาก ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงการตายไปแล้วและเกิดใหม่ ดังคำว่า อังคาร ซึ่งมีความหมายว่าเถ้าถ่าน
ด้านวรรณกรรม มีผลงานทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองที่แสดงถึงความคิดอันเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว มีเอกลักษณ์ทางภาษาอันไพเราะ ลึกซึ้ง แต่แข็งกร้าวและแหวกแนว จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่ ผลงานของเขาได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์ครั้งแรกคือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (พ.ศ.2506) และ กวีนิพนธ์ (2507) โดยการส่งเสริมและสนับสนุนจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ อดีตบรรณาธิการคนแรกและผู้ก่อตั้งหนังสือ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” หลังจากนั้นมีการเผยแพร่และตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้อังคาร กัลยาณพงศ์มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกมีผู้โจมตีเขาเกี่ยวกับการเขียนบทกวีแหวกแนวฉันทลักษณ์จนบางครั้งถูกเรียกว่า กวีผู้แหกคอก
ด้านจิตรกรรม มีชื่อเสียงในด้านการใช้เทคนิคเกรยอง หรือชาร์โคล ซึ่งเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์อย่างยากจะหาใครเหมือน ฉับไวแต่คม หนักแน่นแต่พลิ้วไหว เนื้อหามีนัยเชื่อมโยงถึงประเด็นทางปรัชญา โลก จักรวาล ธรรมชาติ ความจริงแห่งสรรพชีวิต แรงบันดาลใจที่ได้มาจากประเด็นทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร โรงแรมเพรสซิเดนท์ โรงพยาบาลสระบุรี
ด้านอนุรักษ์จิตรกรรมโบราณ ช่วงที่พ้นจากการศึกษามหาวิทยาลัย อังคารได้บวชเรียนนักธรรมที่วัดมหาธาตุราวสองเดือน ก่อนที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์จะมาทาบทามให้เป็นผู้ช่วยทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยภายใต้โครงการของกรมศิลป์ โดยทั้งสองต้องเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีวัดและโบราณสถานเก่าแก่สำคัญหลายแห่ง เพื่อทำการคัดลอกลวดลายงานช่างโบราณ สถูป เจดีย์ จิตรกรรม โบราณสถาน เช่น อยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เพชรบุรี เป็นต้น
ในด้านชีวิตครอบครัว อังคารสมรสกับอุ่นเรือน จิตต์ภักดี มีบุตร-ธิดา 3 คนได้แก่ ภูหลวง อ้อมแก้ว วิศาขา ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยปัญหาทางสุขภาพหลายอย่าง เช่น โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน อังคารเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเมื่อเวลา 00.30 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม 2555
ประวัติการการศึกษา
ชั้นประถม โรงเรียนวัดจันทาราม วัดใหญ่ และ โรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช
ชั้นอุดมศึกษา
พ.ศ. 2484 เข้าศึกษาในสถาบันเพาะช่าง หลักสูตร 2 ปี ป.ป.ช. (ประโยคฝึกหัดการช่าง)
พ.ศ. 2487 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 4 แต่เรียนได้ถึงเพียงปีที่ 3 ก็มีเหตุให้ต้องออกจากมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เขาเป็นศิษย์โดยตรงของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือคอราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยประเทศไทย
ประวัติการตีพิมพ์ผลงาน
- 2507 กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์
- 2512 ลำนำภูกระดึง
- 2515 บางบทจากสวนแก้ว
- 2521 บางกอกแก้วกำศรวล หรือนิราศนครศรีธรรมราช
- 2529 ปณิธานกวี
- 2530 หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา
- 2542 กวีศรีอยุธยา
- 2548 กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ (ฉบับจัดพิมพ์เอง)
- 2548 หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา (ฉบับหนังสือทำมือ)
- 2548 14 ตุลาฯ วันประชาธิปไตย (ฉบับหนังสือทำมือ)

ประวัติการแสดงงานศิลปะ
- 2506 นิทรรศการศิลปะกลุ่มศิลปินไทย ประเทศสิงคโปร์
- 2507 นิทรรศการศิลปะ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มีนาคม) และนิทรรศการกลุ่ม The Gift Gallery ถนนเพชรบุรี (กันยายน )
- 2514 นิทรรศการกลุ่ม ศูนย์บริทิชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ
- 2524 นิทรรศการกลุ่ม Visual Dhamma สถานที่ THE VICHAWANNATHAM Gallery ถนนอโศก
- 2540 งานนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 72 ปี หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- 2551 งานนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 81 ปี หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รางวัลที่และตำแหน่งที่ได้รับ
- 2515 รางวัลกวีดีเด่น ของมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป
- 2529 รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (S.E.A. WRITES Award) จากบทกวีรวมเล่ม ปณิธานกวี
- 2532 ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม และเข้ารับพระราชทานโล่กับเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2533
- 2535 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)